Hi! Prague
วันเวลาของชีวิตเปรียบไปก็เหมือนกับสายลม คือ อ่อนไหวและเอาแน่เอานอนไม่ได้ ก็เหมือนกับคำเชยๆ ที่ว่าชีวิตคือการเดินทาง เดินบ้าง วิ่งบ้าง ล้มบาง เดินไปข้างหน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง ออกซ้าย ไปขวา ตกเลน เข้าสู้เส้นชัย เริ่มต้นใหม่ .. แล้วออกเดินอีกครั้ง
ปีแล้วปีเล่าผ่านไป แต่ละปีก็มีเรื่องเล่าที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราก็พบว่าเราไม่เหมือนเดิมเลย บางอย่างดูน่าขำ แปลกประหลาด และวกวน เพราะความเปลี่ยนแปลงทำให้เราได้ทำ ได้ยิน ได้เห็น ได้สัมผัส และได้ลิ้มลองรสชาติใหม่ๆ และแล้ว วันหนึ่ง การเดินทางก็ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง
99 วันใน “ปราก” มหานครใจกลางยุโรป
การเดินทางจากกรุงเทพมหานคร มายังกรุงปราก ไม่ว่าจะด้วยสายการบิน คุณก็ต้องแวะเปลี่ยนเครื่องที่เมืองใดเมืองหนึ่งในยุโรปเสมอ เพราะถึงแม้คนไทยจะได้ยินชื่อปรากในนามเมืองร้อยปราสาท แต่ระหว่างสองประเทศนี้ก็ยังไม่มีสายการบินตรง คุณอาจจะเลือกสายการบินออสเตรียที่แวะลงเปลี่ยนเครื่องที่เวียนนา หรือสายการบินฟินแอร์ที่แวะเปลี่ยนเครื่องที่เฮลซิงกิ หรือสายการบินลุกฮันซ่าซึ่งแวะเปลี่ยนเครื่องที่แฟรงเฟิร์ตก็ได้ แต่โดยเหตุที่ปรากอยู่ใจกลางยุโรป คุณจึงใช้เวลาต่อเครื่องมาลงที่ปรากเพียงแค่ชั่วโมงเดียว
สายวันพฤหัสในเดือนพฤษภาคม ปี 2549 ฉันและกระเป๋าเจ็ดใบก็ไปถึงสนามบินดอนเมือง จัดการโหลดกระเป๋าสามใบน้ำหนักเกินไปสิลบห้าโล และหอบกิ้วกระเป๋าอีก 4 ใบขึ้นเครื่อง ไม่ต่างจากต้นคริสมาส เพื่อพบกับคำถามจาก ตม. ที่ว่า “ปรากอยู่ส่วนไหนของยุโรป ไม่เคยได้ยินชื่อประเทศเช็ครีพับบิคเลย”
เอาล่ะสิ จะให้ตอบยังไง เพราะไกด์บุคก็ยังไม่ได้เปิดอ่าน รู้แต่ว่าอดีตเคยเป็นเชคโกสไลวาเกีย เป็นเมืองยุโรปตะวันตก และมวยไทยดังที่นั่น
“อดีตเคยเป็นเชคโกสโลวาเกีย ตอนนี้แยกเป็นเช็ครีพับบิค กับสโลวักค่ะ”
“อ้าว นึกว่าแยกจากรัสเซียซะอีก”
“ไม่ใช่ค่ะ อันนั้นมันเติร์กมินิสถาน”
เฮ้ย ตอบไปได้ไง ไม่เกี่ยวกันเล้ย
“ผู้หญิงตัวคนเดียวซะด้วย ไปเที่ยวอะไรตั้งสามเดือน แล้วทำไมหิ้วกระเป๋าขึ้นเครื่องตั้งสี่ใบ”
เมื่อ ตม. ประทับตราออกประเทศ ฉันก็วิ่งลูกเดียว เพราะเลยเวลาเครื่องออกไปห้านาทีแล้ว แต่พอไปถึง ประตูเข้าเครื่องก็ปิดตาย ฉันได้แต่ทุบๆ ประตู ปากก็ตะโกนร้อง “ยังมีอีกคนค่ะ ยังมีอีกกกกกกโค้นนน” อะไรวะ (คิดในใจ)ทำไมแอร์ไม่เห็นเดินตามประกาศหาเลย ทิ้งกันไปได้ เครื่องบินตั้งลำ!
“คุณนามสกุลอะไรครับ”
“แก้วแสงธรรมค่ะ”
“เชิญทางนี้ครับ นั่นมันเกทเข้าไฟล์ทอื่น ของคุณไปแฟรงเฟิร์ต ประตูโน้นต่างหาก”
อ้าว พอไปถึงเครื่อง ฉันก็พบแอร์ทุกคนตั้งตารอ พร้อมผู้โดยการกว่าสามร้อยกว่าชีวิตที่นั่งประจำที่พร้อมบินกันหมดแล้ว เมื่อฉันและกระเป๋าสี่ใบกที่มาสายเหมือนกัน ยักแย่ยักยันเดินผ่านทางเดินแคบไปยังที่นั่ง ไม่กี่นาทีเครื่องก็ออกบิน
เฮ้อ ...ก็หมือนทุกครั้งที่ออกเดินทางคือกว่าจะออกเดินทางได้ วุ่นวายสุดๆ พอเครื่องทะยานออกจากรันเวย์ ทุกอย่างถึงนิ่งลง ไม่ว่าจะหลงลืมสัมภาระอะไรก็ตาม ก็ช่วยไม่ได้แล้ว รอแต่ไปหาเอาดาบหน้า
สิบชั่วโมงบนน่านฟ้าผ่านไป กับการบินช่วงกลางวันที่แสนทรมาน ฉันก็มาถึงแฟรงก์เฟิร์ต นั่งรอเครื่องประมาณ 4 ชั่วโมง เมื่อเครื่องบินลำเล็กจอดเทียบท่า พร้อมรับผู้โดยสาร ฉันก็ถอดใจเฮือกสุดท้าย จนกว่าจะ 60 นาที จึงถึง “ปราก” !
ไสยศาสตรต์มีจริง ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ขณะที่ลงจากเครื่อง พร้อมด้วยกระเป๋าที่ทุกคนในเครื่องต้องมองว่ากระเหรี่ยงนี่หอบอะไรเข้าเมือง ที่หน้าประตูเครื่องบิน ฉันก็พบกับ "มร.มาเร็ค" และ “ก๊อดซิล่า” บอดี้การ์ดร่างยักษ์ พร้อมกับเจ้าหน้าที่สนามบิน มารอรับฉันอยู่ที่หน้าประตูเครื่องบิน เรียกได้ว่ารอรับตั้งแต่ก้าวแรกที่ก้าวเท้าออกจากเครื่องบินเลยทีเดียว
แต่ที่ประทับใจกว่าคือ ก๊อดซิล่าและเจ้าหน้าที่สนามบินได้รับสัมภาระทั้งหมดอันหนักอึ้งจากบ่าฉันไป แล้วพาเลี้ยวขวาลงประตูพิเศษ ซึ่งมีบันไดเชื่อมต่อ และมีรถของสนามบินรอรับเป็นการส่วนตัว ส่งต่อฉันไปยังห้องรับรองพิเศษวีไอพี ผู้โดยสารคนอื่นที่เดินตามฉันมา งงกันเป็นแถว บอกแล้ว ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ มาสาย แต่ชัวร์!
พูดถึงการมาถึงสนามบินปรากนี่ ว่าไปแล้วได้มีโอกาสมาสามครั้ง ก็ยังไม่เคยเห็นหน้าค่าตาของตัวภายในอาคารสนามบิน เพราะ มร. มาเร็ค ที่มารับ ก็มารอรับที่ตีนบันไดเครื่องบินพร้อมกับตรงพาเข้าห้องวีไอพีเช่นเดียวกัน พอตอนขากลับครั้งนั้นก็มีรถสนามบินมารับพิเศษแล้วขึ้นเครื่องเป็นคนแรก จากนั้นจึงมีรถสนามบินนำผู้โดยสารคนอื่นมาส่ง ก็เลยไม่ได้เห็นสักทีว่าแอร์พอร์ตปรากเป็นไงมั่ง
“คุณบอกเจ้าหน้าที่สนามบินว่าฉันเป็นใคร ทำไมถึงมารับฉันที่ประตูเครื่องบินได้” ฉันถาม มร. มาเร็ค เมื่อเขาพาฉันขึ้นรถเบนซ์สีดำ อันมีก๊อดซิลาเป็นสารถี“ผมบอกว่าคุณคือคนสำคัญของประเทศเช็ค”ปัดโธ่สำคัญอีท่าไหน ทำไมคนสำคัญช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย
สัปดาห์แรก ตระเวนชิม
เมื่อมาถึงปรากในสัปดาห์แรก อันเป็นช่วงใบไม้ผลิของที่นี่ บรรยากาศจึงเย็นสบาย น่าเดินเล่น บางวันอาจจะมีฝนตกโปรยปรายบ้าง แต่ก็ไม่เป็นที่น่ารำคาญใจสำหรับนักท่องเที่ยว หากแต่วันไหนที่ฝนตกหนักผิดปกติ ชาวเช็คจะพร้อมใจเรียกอากาศแบบนั้นว่า Chinese weather เพราะความที่เคยผ่านม่านหมอกมรสุมคอมมิวนิสต์มาเช่นกัน ระบบคอมมิวนิสต์ของจีนจึงถือเป็นปีศาจร้ายน่ากลัวที่ยังตามหลอกหลอนพวกเขาอยู่
นอกจากสภาพอากาศที่ถือว่าเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่อากาศดีที่สุด และจะต่อเนื่องไปถึงเดือนมิถุนายนแล้ว ดอกไม้ข้างทางเล็กๆ สีเหลืองก็พร้อมกันบานตัดกับทุ่งหญ้ากว้างสีเขียว เมื่อขับรถผ่านตามชานเมืองปราก ทำให้ได้เห็นภาพในโปสการ์ด วันไหนอากาศดีและมีแดด มร. มาเร็คก็จะเปิดประทุนรถสอปร์ตของเขาให้ใบหน้าที่ไม่ได้ทาซันบล็อกของฉันเชยชมกับแสงแดด อย่างกับว่าเมืองที่ฉันจากมาไม่เห็นพบเคยเห็นแดดอย่างนั้นแหละ
สัปดาห์แรกในเมืองปราก จะว่าผ่านไปช้าก็ช้า ผ่านไปเร็วก็เร็ว เพราะฉันยังไม่ได้สตาร์ทไปเที่ยวตามที่ต่างๆ มากนัก ด้วยความที่เที่ยวนี้มาอยู่นานสามเดือน กลัวว่ารีบเที่ยว เดี๋ยวจะรีบเหงาและตังค์หมดไปซะก่อน ในฐานะอาคันตุกะที่ดี ฉันจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำตัวเป็นแขกที่ดี ช่วย มร. มาเร็ค ไปทำธุระต่างๆ พบปะกับเพื่อนและครอบครัว รวมถึงหน้าที่สำคัญสำคัญในการเผยแผ่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม นั่นก็คือการทำอาหารไทย
ว่าไปแล้ว ตั้งแต่เกิดมายังแผ่นดินมาตุภูมิ ก็ไม่เคยต้องทำกับข้าวให้แม้แต่ตัวเองกินบ่อยนัก แต่มาปรากคราวนี้ต้องมาเผยแผ่อาหารไทย ความจริง ถ้ารำได้ก็คงจะดี ฉันจะได้รำแลกเปลี่ยนแทนการทำกับข้าว
ดังนั้นถ้าถามถึงชีวิตประจำวันในช่วงสัปดาห์แรกของการสร้างภาพ ฉันก็จะตื่นสายๆ หน่อย (ความจริงเกือบเที่ยง) แล้วนวยนาดขึ้นมากับข้าวอย่างอายๆ เมื่อได้มื้อแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ มร. มาเร็ค ซึ่งปกติงานยุ่งยากยุ่งเย็นตามประสานักธุรกิจ ก็จะถามฉันว่าวันนี้ อยากไปเที่ยวไหน พร้อมกับโยนไกด์บุ๊คที่ภายในบรรจุภาพกว่าหมื่นรูปให้ฉันเลือก ฉันก็จะตอบอย่างนางเอกว่า “คุณทำงานเถอะ ฉันไม่อยากรบกวนมาก เอาที่ไหนที่พอไม่ลำบากเกินไปสำหรับคุณ ยังมีเวลาอีกถมเถไปในเช็ค”
แผนนี้ได้ผลระยะยาวหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่รู้สึกประสาคนชอบกิน มร.มาเร็ค ผู้ซึ่งไม่ค่อยมีจิตวิญญาณของการเที่ยวแบบเร่ร่อนเท่าไหร่ และไม่ยอมให้ฉันไปไหนเองคนเดียวเลย ก็มักจะพาฉันตระเวนไปชิมชมอาหารรสเลิศต่างๆ ของปราก ช่วง 7 วันแรก จึงเป็นเจ็ดวันอันตรายของการตระเวนกิน
อาหารชวนชมในปราก ตำรับ มร. มาเร็ค
เมื่อฉันเปิดไกด์บุคที่แนะนำร้านอาหาร มร. มาเร็ค ซึ่งมีคำพูดประจำตัวว่า “ไม่แน่ใจในคุณภาพ” และดูหนังต้องโกลด์คลาสเท่านั้น ก็จะขมวดคิ้วแล้วบอกประโยคประจำตัวว่า“ยูโหน่ว ไอไม่แน่ใจในคุณภาพของอาหารที่นี่หรอก”“อ้าว แล้วไกด์บุ๊คเขาแนะนำได้ไง”“มันอาจจะเก่าแล้ว หรือไม่ก็เป็นแค่โฆษณาก็ได้”
ว่าแล้วการตระเวนชิมแบบ มร. มาเร็ค ชวนชิม ก็เกิดขึ้น โดยเริ่มต้นจากร้านอาหารตำรับเช็คแท้ๆ ซึ่งในการเย้าเยือนครั้งแรก ฉัน แขกจากอาเซียนอย่างฉันก็แยกแยะไม่ออกหรอกนะว่าอาหารสไตล์เช็คเป็นอย่างไร แต่เอาเป็นว่าที่ไม่เซอร์ไพรส์คือขนาดของเมนูที่เมื่อเสิร์ฟวางบนโต๊ะแล้ว โตกว่าหน้าอกหน้าใจของฉันซะอีกเมื่อเห็นว่าเมนูเช็คไม่ค่อยได้ผล มร. มาเร็ค ก็งัดไม้เด็ดเป็นเมนูนานาชาติเข้ามาแทน ในแผนสอง
“คุณชอบเป็ดหรือเปล่า”
“ชอบ ชอบเป็ด ชอบไก่ ชอบปลา ชอบหมู ชอบหมา”
“ผมถามเป็ด เน้นเป็ดอ่ะเป็ด”
“ก็ชอบอีกนั่นแหละ ชอบไง”
“ที่ปรากมีเรสเตอรองที่มีเมนูเป็ดเลิศรสที่สุด”
พูดเป็นเป็ดโอชารสไปได้
แล้ว มร. มาเร็ค ก็พารถเลกซัสคู่กาย พร้อมฉันและบอดี้การ์ด หรือจริงๆ ต้องบอกว่า บอดี้การ์ด และ เลกซัส ก็พา มร. มาเร็ค และฉัน มาถึงที่หน้าเรสเตอรอง ADA ณ Hotel Hoffmeister
เมื่อไปถึง “ก๊อดซิล่า” บอดี้การ์ดร่างยักษ์ที่สูงเกิดสองเมตรและอ้วนหนา ก็หาที่นั่งแถบประตูแยกไปตามลำพัง ซึ่งทุกครั้งมักจะเป็นอย่างนี้เสมอ
“ทำไมกอดซิลาไม่นั่งแถบๆ เราล่ะ” ฉันเอ่ยปากถาม เมื่อ มร. มาเร็ค เลือกที่นั่งแถบในสุดที่สุดแสนจะวิ่งด้านนอกที่กระจกสวย
“ก๊อดซิล่ามีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัย และคอยสังเกตคนเข้าออกในภัตตาคาร อีกอย่าง คุณเห็นไหม คนนั้นก็บอดี้การ์ด อีกคนที่นั่งมุมนั้นก็บอดี้การ์ด ซึ่งสำหรับคนในแวดวงนี้ เราจะรู้ได้ทันทีว่ามีแขกคนสำคัญคนไหนบ้างกำลังอยู่ในภัตตาคารนี้ จากบอดี้การ์ดนี้แหละ เพราะต่างก็มีบอดี้การ์ดประจำตัวที่เห็นหน้าก็รู้แล้วว่าเป็นบอดี้การ์ดใครทั้งนั้น”
“อืม แล้วทำไมคุณถึงเลือกกอดซิล่าล่ะ ตัวใหญ่จัง รู้ไหมว่าประตูร้านบางแห่ง กอดซิลาต้องตะแคงตัวเข้าอ่ะ”
“บอดี้การ์ดแต่ละคนก็มีบุคลิกแต่ละแบบ สำหรับผมเลือกกอดซิล่า เพราะเขาตัวใหญ่ดี ไปไหนใครๆ ก็จำผมได้”
ได้ฟังคำตอบแล้ว ฉันก็เหม่อมมองไปยังกอดซิล่า แล้วเอออกห่อหมก ใครจำไม่ได้ก็แปลกแล้ว คนร่างยักษ์ซะขนาดนั้น!
กล่าวสำหรับเรสเตอรองเอดีเอชคงเป็นภัตตาคารระดับสี่ห้าดาวแบบเชลล์ชวนชิม ระดับที่แขกต้องใส่ทักสิโดหรือสูทมานั่งรับประทานอย่างโก้หรู ซึ่งข้อนี้ มร. มาเร็ค รอดตัวเพราะอยู่ในชุดสูทประจำตัว แต่ฉันสิอยู่ในกางเกงยีนส์แบบเห็น
“ที่นี่อนุญาตให้กางเกงยีนส์ไหม” ฉันเริ่มไหวตัวเอ่ยปากถาม
“ไม่เห็นไรหรอก พนักงานที่นี่รู้จักผมดีทุกคน เขาจะต้องสุภาพกับคุณ”
“ถ้าไม่สุภาพกับฉันน่ะ อ่ะโด่ เดี๋ยวอายกลับไปให้ดู!”
หลังจากพูดจาใหญ่โตในชุดยีนส์แล้ว พนักงานเสิร์ฟก็จัดการเสริฟสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในนามของออร์เดิร์ฟต่างๆ ในชุดคริสตัล ทยอยมาแบบไม่ขาดสาย แล้วเชฟผู้ซึ่งแค่เห็นหุ่นและหน้าตาใจดี ก็รู้ว่าต้องทำอาหารอร่อย ก็ออกมาแนะนำตัว และถามฉันว่าชอบรับประทานอะไรเป็นพิเศษ ลิ้นจระเข้อย่างฉันผู้ไม่ค่อยจะรู้ว่าอะไรพิเศษ ก็ตอบอย่างไม่พิเศษว่า
“เป็ด ได้ข่าวว่าเป็ดอร่อยใช่ไหมคะ” นี่มีย้อน
เชฟยิ้มแล้วบอกว่า ฉันจะได้รับประทานสเตกเป็ดอบอย่างแน่นอน แต่เนื่องจากวันนี้เป็นวันพิเศษจริงๆ ซึ่งเรามีความยินดี ที่ มร. ยาเนเชค (นามสกุล มร.มาเร็ค) มาเยี่ยมเยียนภัตตาคารเราอีกครั้ง (ถึงตรงนี้ มร. มาเร็ค ก็ผงกหัวรับเล็กน้อยอย่างพองาม) เราจึงขอแนะนำเมนูพิเศษที่ทางร้านเพิ่งจะได้ส่วนผสมที่แสนหายาก และมีเอกลักษณ์ เมื่อได้คิดค้นสูตร ผสมกับตำรับ @#**&^%!!!...ฯลฯ
เมื่อเชฟมาถึงพร้อมศัพท์อาหาร น้ำลายกับน้ำย่อยก็เริ่มทำงาน ฉันไม่รอช้า ไม่ว่าเชฟจะแนะนำอะไร ก็โอเคหมด เมื่อถึงเวลาเสิร์ฟฉันจึงพบว่าตัวเองได้สั่งอาหารไปสี่จาน แต่ละจานก็ล้วนแต่จานใหญ่ แต่อาหารน้อย และตกแต่งแต่พองาม อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ลองแต่ละอย่าง ฉันก็พบว่าความกรอบนอกนุ่มของเป็ดที่นี่ เป็นเมนูที่ชนะใจไปในที่สุดสมดังคำร่ำลือ
จากภัตตาคารเป็ดโอชารส มร. มาเร็ค ก็ไล่เรียงพาฉันไปยังร้านโปรดของเขาอันดับสองคือ ร้าน Hlinena Basta ที่ “ฮักกา” ผู้จัดการร้านเป็นอดีตพนักงานบริษัทของมาเร็ค
“ฮักกา” เป็นผู้หญิงร่างเล็ก ซึ่งมาเรคบอกว่านี่เป็นสไตล์สาวเช็คพิมพ์นิยมที่หนุ่มๆ ชอบ ฉันจึงเริ่มทำความเข้าใจกับความงามแบบเช็คได้เลาๆ หลังจากที่ค่อนข้างสับสันกับสาวๆ เช็คที่ดูๆ ไปแล้ว เอกลักษณ์หน้าตา ดูไม่ออกบอกไม่ถูก เหมือนหน้าตาธรรมดาไปหน่อย ส่วนหนุ่มเช็คนั้น ถ้าจะว่ากันตรงๆ ก็นึกถึงประโยคที่เพื่อนนักเรียนเก่าเช็คประกาศกร้าวให้นักท่องเที่ยวได้หมดหวังว่า
“หนุ่มเช็คน่ะเหรอ หน้าตาก็เหมือนแกงจืดไม่ใส่น้ำปลานั่นแหละ” เอาน่าอย่างน้อย ก็ยังมี มร. มาเร็ค อยู่ทั้งคน (เหนื่อยใจ แต่ยังไหวอยู่)
กลับมาที่ร้านอาหารแห่งนี้ ซึ่ง มร.มาเร็ค บอกว่าเป็นครัวแบบยุโรป และเป็นร้านโปรดที่นายกรัฐมนตรีเช็คชอบมาทานบ่อย ร้านนี้ตกแต่งร้านสไตล์อบอุ่นเป็นกันเองเหมือนรับประทานอาหารอยู่ที่บ้าน เมื่อฉันลิ้มลองสลัดรสชาติต่างๆ แล้ว นอกจากจะไม่รู้สึกเหมือนอยู่บ้านแล้ว ยังเดารสชาติความเป็นยุโรปไม่ออกนัก เรียกว่าสัปดาห์แรกในยุโรปยังเอาสาวอีสานอย่างฉันไม่อยู่
จากนั้นมาต่อกันที่เรสเตอรอง SOHO+ตอนแรกนึกว่าร้านอาหารจีนในย่านไชน่าทาวน์ของปรากซะอีก เมื่อมาถึงปรากฏว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความเป็นจีนเลยแม้แต่น้อย การตกแต่งสไตล์มินิรัลสีขาวที่ดูโก้หรู ริมแม้น้ำวัตตาวา ทำให้บรรยากาศเรียบ คลาสสิค และตกแต่งได้น่านั่งจริงๆ
นอกจากร้านจะสวยแล้ว ทุกอย่างก็ล้วนดูดีไปหมด แม้แต่เจ้าของร้าน ซึ่ง มร.มาเร็ค ชี้ให้ฉันดูแล้วบอกว่า เธอคืออดีตมิสสโลวัก เป็นนางงามและนางแบบชื่อดัง เท่าที่เห็นเธอก็สวยและเซ็กซี่จริงๆ นอกจากนี้พนักงานเสิร์ฟหนุ่มๆ ที่นี่ทุกคนล้วนหล่อ เซ็กซี่ และหุ่นดีแบบนายแบบทั้งนั้น นี่ล่ะของหวานชั้นดี
มร.มาเร็ค บอกว่าเขามาที่นี่บ่อย เพราะอยู่ไม่ไกลจากบ้าน และชอบนัดเพื่อนๆ มาประชุมกันที่นี่ และวันนี้เอง มร. มาเร็ค ยังได้แนะนำให้ฉันรู้จักซีอีโอของเครือข่ายมือถือยูโรเทลในเช็ค ซึ่งหลังจากการดินเนอร์ ข้าวผัดเห็ดเนย แซลมอน และกาแฟ พร้อมทั้งของหวานเค้กสตอบอรี่ที่เป็นของหวานยอดฮิตแล้ว ซีอีโอแห่งยูโรเทลก็ได้สละตำแหน่งมาร่วมงานกับบริษัทโทรทัศน์ของ มร. มาเร็ค
“คุณพูดอย่างไรกับเขาน่ะ ถึงสามารถโน้มน้าวใจให้เขามาทำงานกับคุณได้” ฉันถามมาเร็ค ด้วยความอยากรู้ หลังจากการสนทนาสองชั่วโมงบนโต๊ะอาหารผ่านไป โดยฉันเข้าใจภาษาเช็คแค่คำว่า Ano คือ ตกลง และ Ne ไม่ตกลง
“ยูโรเทลเป็นบริษัทที่ใหญ่ ผมรู้ว่าตอนนี้สิ่งที่เขาต้องการคือความท้าทายและอำนาจ ผมให้อำนาจเขาอย่างมากในการบริหารสถานทีโทรทัศน์ ซึ่งถึงแม้จะเล็กกว่าบริษัทมือถือ แต่งานนี้ท้าทายกว่า และผมรู้ว่านี่คือสิ่งที่เขามองหา”
เราจบการสนทนากันวันนั้น โดยอดีตซีโออียูโรเทลได้เชิญให้ไปร่วมงานแต่งงานของเขาในเดือนกรฎาคม ซึ่งจัดขึ้นที่ปราสาทเล็กๆ ในเมืองทางเหนือของเช็ค และมีปาร์ตี้ในสวน
มันจึงเป็นมื้ออาหารที่แปลกสำหรับฉัน ริมแม่น้ำวัตตาวา ผู้ชายสองคนที่คุยกันเรื่องงาน และจบลงด้วยการ์ดเชิญงานแต่งงานในปราสาท รายละเอียดนี้จะไม่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ หรือในชีวิตประจำวันที่ฉันเป็นอยู่อย่างแน่นอน การเดินทางก็อย่างนี้เอง บางครั้งทำให้เราได้กระโดดไปดูชีวิตของคนอื่น
ร้านสุดท้ายที่ภูมิใจนำเสนอนั่นก็คือ ร้านไอศกรีมที่อร่อยที่สุดในปราก!
ด้วยความที่เป็นสาวกไอศกรีม มาปรากครั้งนี้เราย่อมไม่พลาดตระเวนชิมไอศกรีมในปราก แต่ที่นี่ไม่มีสเวนเซ่นและไฮนาเก้น เราจึงตรงไปที่ Cremeria Milano ร้านอิตาเลียนเค้กและไอศกรีมในปราก
แค่การตกแต่งแบบที่คอไอศกรีมต้องกรี๊ดแล้ว คือพนักงานตั้งแต่เสริฟ์ไปจนถึงพนักงานทำความสะอาดอยู่ในชุดแม่บ้านโบราณแบบใช้ผ้ากันเปื้อนระบายสีขาว และสวมหมวกสีขาว ไม่ว่าจะจาน แก้ว ช้อน โคมไฟ เป็นอะไรที่สวีตหวาน เลี่ยน และโรแมนติก ยิ่งทำให้รสชาติไอศกรีมแบบอิตาเลียนกว่า 20 รส นั้นเป็นครีมในฝัน ส่วนสนนราคาฉันว่าก็ไม่แพงมาก นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ พอทานได้ นั่นคือ สามลูกสามร้อยกว่าบาท ก็ถือว่าคุ้มค่าน่าลิ้มลอง
นอกจากร้านอาหารเต็มสูตรเหล่านี้แล้ว เมื่ออยากกินอาหารจีน อาหารญี่ปุ่น หรืออาหารเขมร และอาหารไทยขึ้นมา มร.มาเร็ค ก็มีตัวเลือกมาให้ฉันทั้งนั้น แต่ต้องบอกว่ารสชาติของร้านทั้งสามอย่าง เมื่อเทียบกับเหล่าเราๆ ที่มาจากกรุงเทพฯ แล้วก็ถือว่าพอได้หายคิดถึงเท่านั้นเอง
แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันคิดว่าเป็นสถานที่ที่น่าลิ้มอาหารอีกแห่งหนึ่งคือ ในห้าง หรือในซุปเปอร์มาเก็ต ซึ่งมีพวกขนมนมเนย และอาหารสด แห้ง ผลไม้ต่างๆ ให้ได้เลือกลิ้มลอง ที่ปรากจะมีการกำหนดโซนที่เป็นบริเวณอย่างห้างต่างๆ ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณสิบห้ากิโลเมตร ซึ่งที่นี่จะเป็นศูนย์รวมห้างทุกชนิด ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ ไม่จนถึงอุปกรณ์ตกแต่งบ้า น หรือห้างแมคโคร เรียกว่ามาย่านเดียวชอปปิ้งได้ครบ
สิ่งที่น่าลองจากซุปเปอร์ในปรากก็คือ องุ่นเม็ดใหญ่ ซึ่งที่บ้านเราราคาแพง ช็อคโกแลตสำเร็จรูปที่ มร. มาเร็ค แนะนำว่าที่อร่อยที่สุด ต้องยี่ห้อเกอิชากล่องสวยๆ หน้ากล่องมีรูปเกอิชา และยังมีสารพัดเนยที่น่าลิ้มลอง ผลไม้เมืองหนาว อาหารต่างๆ จะยกเว้นก็แต่อาหารพวกซีฟู้ดที่เช็คซึ่งมีราคาแพง เพราะกล่าวกันว่า “คุณสามารถหาทุกอย่างได้ในเช็ค ยกเว้นก็แต่ทะเล” อาหารซีฟู้ดที่นี่จึงนำเข้าทุกอย่างและมีราคาแพง
คนเช็คไม่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน พวกเขาเป็นประเทศเปิดใหม่ที่ยังยากจน และนิยมทำอาหารกินเองในครอบครัว การรับประทานอาหารนอกบ้านจึงหมายถึงพวกมีเงินหรือนักท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่
จบสัปดาห์แรกไว้แค่นี้ก่อน *_* แล้วคอยติดตามชมสัปดาห์ต่อไปนะคะ
0 Comments:
Post a Comment
<< Home